ชื่อเรื่องก็บอกเราอยู่แล้วว่าตัวละครในเรื่องทำงานเกี่ยวกับอะไร – Call Center ที่รับเรื่องทั้งดีและไม่ดีจากลูกค้า
(ทั้งเรื่องราวร้องทุกข์หรือชมเชย) ทั้งยังต้องรับทราบปัญหาของสินค้าที่ทางบริษัทได้ขายออกไปอีกด้วย
ตอนที่นำเสนอสินค้าทางโฆษณา คนขายอาจจะพูดหรือนำเสนอข้อมูลอะไรก็ได้เพื่อให้ได้มาซึ่งยอดการขายของสินค้านั้นๆ
แต่บริการหลังการขายนี่สิที่อยู่เบื้องหลังการทำงานของละครที่นำเสนอ เราจะได้รู้ว่าทฤษฎีที่ว่า ลูกค้าคือพระเจ้า หรือ ลูกค้านั้นถูกเสมอ
นั้นยังคงเป็นสิ่งไม่ตายสำหรับงานขายหรืองานบริการ ที่เราต้องจำใส่หัว(ใจ)เอาไว้ให้ได้
พระเอกของเราก็ได้หนุ่ม Koizumi Kotaro รับบทเป็น Tokura Wataru (อาจจะคุ้นหน้าคุ้นตากันดีจากซีรีส์เรื่อง Attention Please!
ที่รับบทเป็นกัปตันฝึกหัดที่แสนเจ้าชู้) พนักงานประจำของบริษัท TV Shopping ที่ทำงานอยู่สำนักงานใหญ่ในเมืองโตเกียว
ที่ถูกอัปปาหิ (เพราะดันไปพูดไม่เข้าหูเจ้าแม่ไอสุเข้า) สั่งเด้งด่วนให้ย้ายไปอยู่ที่สาขาลูกที่ต่างเมือง คอยดูแลศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์
ของลูกค้าที่แผนก Call Center ของบริษัท – การทำงานของที่นี่มันไม่ได้ง่ายดายอย่างที่พระเอกของเราคิดเอาไว้ซะเลย
(น่าสงสารจริงๆ) แถมยังรู้สึกเสียหน้าและเสียความรู้สึกที่เหมือนโดนลดตำแหน่งหน้าที่การงานลงอย่างนี้ด้วย
อีกทั้งต้องมาปรับเปลี่ยนทัศนคติรวมทั้งความคิดในการทำงานและการใส่ใจผู้คนมากกว่าเดิม แต่โดยเนื้อแท้ของพระเอกเป็นเหมือนแก้วน้ำ
ที่ยังไม่เต็ม พร้อมที่จะเติมได้ทุกเมื่อ ส่งผลให้เป็นคนที่ยอมรับความเป็นจริงและยอมรับความคิดเห็นของเพื่อนร่วมงาน
รวมทั้งความเป็นตัวตนของนางเอกอีกด้วย
Mimura รับบทเป็น Aoyama Kyoko นางเอกผู้ดูเหมือนจะแปลกผู้แปลกคนอยู่สักหน่อย ผู้มีเบื้องหลัง
และสาเหตุที่มาอยู่ที่ Call Center ไกลเมืองหลวงอย่างนี้เพราะเธอหวังจะตามหาพ่อที่จู่ๆก็หายสาบสูญไป
หรืออาจจะเสียชีวิตลงไปแล้วก็อาจเป็นได้ นางเอกจะเปรียบได้กับคุณครูที่จะคอยสอนพระเอกอยู่ตลอดเวลาโดยที่พระเอก
อาจจะรู้ตัวหรือไม่รู้ตัว ข้อคิดต่างๆที่นางเอกได้แสดงออกมาให้เราเห็นจะเป็นเครื่องสะท้อนชีวิต สภาพปัญหาและความเป็นจริง
ของสังคมในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นความเห็นแก่ตัว การไม่รับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น การเอาเปรียบคนที่ด้อยกว่า
การเอาช่องโหว่มาเป็นตัวสร้างผลประโยชน์ให้กับตนเอง เหล่านี้เป็นต้น
สินค้าแต่ละชิ้นที่ถูกขายออกไปนั้น สามารถเล่าเรื่องราว(ในแต่ละตอน)และให้แง่คิดกับผู้ชมอย่างเราได้อย่างดี
คุณป้าที่ซื้อไฟฉายรุ่น10กว่าปีที่แล้วที่ไม่สามารถเปิดไฟได้ ถ้าเป็นคนรับเรื่องทั่วๆไปก็คงจะปัดด้วยประโยคต่างๆนานา
ที่คนฟังอาจจะฟังแล้วไม่พอใจมากนัก แต่กับซีรีส์เรื่องนี้นั้นจะค่อยๆเล่าเรื่องราวและปมของปัญหาที่คุณป้าต้องการที่จะเปิดไฟฉาย
ให้ได้ว่าเป็นเพราะเหตุใด ในหลายๆตอน ดูไปก็อดซาบซึ้งไปกับบทละครด้วยไม่ได้
ข้อคิดที่ได้จากประโยคของพระเอก “ลดทิฐิและเผชิญหน้ากับลูกค้า ก็จะทำให้เราได้เข้าใจลูกค้ามากขึ้น”
และ “การเข้าใจคนอื่น นั่นคือความหมายของการมีชีวิตอยู่”
จุดเด่นของซีรีส์เรื่องนี้
ถ้าคุณทำงานที่เกี่ยวข้องกับลูกค้าหรืองานให้บริการลูกค้า แนะนำให้หามาดูซะนะ เพราะคุณจะได้เห็นมุมมองของกลุ่มลูกค้า
ที่เราคิดว่าเป็นกลุ่มลูกค้าที่ขี้บ่น จู้จี้จุกจิก แท้จริงแล้วเขาอาจจะต้องการร้องทุกข์หรือคนรับฟังความคิดเห็นของเขาก็ได้
แต่ความเป็นจริงแล้ว คนทำงานบริการอย่างเรา (รวมทั้งบรรณารักษ์ด้วย) ก็อยากให้ลูกค้าลดทิฐิ
และเข้าใจการทำงานของเราสักหน่อย งานทุกอย่างมันมีกฎระเบียบที่ต้องพึงปฏิบัติ (ก็เหมือนบ้านเมืองที่ต้องมีกฎหมาย)
ก็อยากให้ลูกค้าปฏิบัติตามระเบียบด้วย!!!