ปี 1961 สถานีโทรทัศน์ NHK ได้เริ่มต้นเสนอละครชุดช่วงเช้า ที่เรียกขานกันว่า Asadora drama (ปัจจุบันออกอากาศทุกวันจันทร์ถึงเสาร์
ตั้งแต่ 8.15 น.-8.30 น. และเวียนซ้ำอีกรอบในวันเดียวกันตอน 12.45 น.-13.00 น.) ประเดิมด้วยเรื่อง Musume to Watashi
4 เมษายน1983 ละครโทรทัศน์เรื่อง Oshin ซึ่งเป็น Asadora drama ลำดับที่ 31 ของ NHK ได้ออกอากาศวันแรก และจบลงโดยสมบูรณ์
เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 1984 จำนวนทั้งสิ้น 297 ตอน ความยาวตอนละ 15 นาที (รวมแล้วน่าจะประมาณ 75 ชั่วโมง)
ช่วงเวลาเกือบหนึ่งปีดังกล่าว กลายเป็นการสร้างประวัติศาสตร์-ปรากฎการณ์ครั้งสำคัญในวงการโทรทัศน์
Oshin ประสบความสำเร็จท่วมท้น ยอดจำนวนคนดูสูงลิ่วเป็นสามเท่าตัวของรายการปกติที่ได้รับความนิยม (เฉลี่ยโดยรวมตกราว ๆ 52.6% ของผู้ชมทั้งหมด และเฉพาะเพียงแค่ตอนเดียวที่ฮิตสุด เรตติ้งพุ่งทะยานถึง 62.9 %)
ความสำเร็จของ Oshin ยังคงเป็นสถิติสูงสุดของละครโทรทัศน์ในญี่ปุ่นมาจนถึงทุกวันนี้
นับจนถึงปัจจุบัน Oshin ออกอากาศไปแล้ว 59 ประเทศ รวมทั้งไทย ซึ่งมีเรตติ้งความนิยมสูงเป็นอันดับสองในบรรดาประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกที่นำละครชุดนี้ไปเผยแพร่ ส่วนอันดับหนึ่งคือ อิหร่าน และอันดับสามคือ อิรัก
หากจะกล่าวว่า Oshin เป็นที่ชื่นชอบประทับใจสูงสุดในประเทศแถบตะวันออกกลาง ก็ไม่ผิดจากความจริงนัก ยิ่งไปกว่านั้นตัวเอกของเรื่องคือ โอชิน ได้กลายเป็นวีรสตรีประจำใจของผู้หญิงอิสลามจำนวนไม่น้อย รวมทั้งเป็นตัวละครที่ผู้ชมทุกเพศทุกวัยจากทั่วโลกพากันหลงรัก
ความโด่งดังของละครโทรทัศน์ชุดนี้ ส่งผลให้เกิดปรากฎการณ์ที่เรียกกันว่า The Oshin Effects เช่น ที่เมืองยามางาตะบ้านเกิดของโอชินตามท้องเรื่อง (เมืองเดียวกับที่ปรากฎเป็นฉากหลังในหนัง Swing Girls) “ข้าวปั้นโอชิน” และ “เหล้าสาเกโอชิน” กลายเป็นของที่ระลึกอันมีชื่อเสียงโด่งดัง บริเวณท่าจอดเรือริมฝั่งแม่น้ำโมงามิ (บ้านเกิดของโอชินอยู่ตอนต้นแม่น้ำสายนี้) ซึ่งเคยมีชื่อเรียกกันว่า Basho Line ได้รับการขนานนามใหม่เป็น Oshin Line เรื่องราวของโอชินได้รับการนำไปเผยแพร่ต่อยอดในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งหนังการ์ตูน หนังสือการ์ตูน ละครเวที รวมทั้งในบทเพลง นักการเมืองหลายคน พูดถึงแนวความคิดทางเศรษฐกิจโดยอิงกับ “ปรัชญาวิธีคิดแบบโอชิน” รวมทั้ง “มาตรการประหยัดแบบโอชิน” (ซึ่งมีหลักการและรายละเอียดใกล้เคียงกับเศรษฐกิจแบบพอเพียง) นักกีฬาซูโม่ชื่อดังทากาโนซาโตะ ได้รับอิทธิพลแรงบันดาลใจถึงขั้นเปลี่ยนชื่อตนเองเสียใหม่เป็นโอชิน โยโกซุนา ฯลฯ
Oshin เป็นผลงานการเขียนเรื่องและบทละครโทรทัศน์ของฮาชิดะ ซุงาโกะ (ชื่อจริงอิวาซากิ ซุงาโกะ) ว่ากันว่า เธอสร้างตัวละครโอชินขึ้นมาโดยอิงจากประวัติชีวิตมารดาของคาซุโอะ วาดะ (นักธุรกิจผู้มีชื่อเสียง เจ้าของกิจการค้าปลีกและซูเปอร์มาเก็ต ที่มีสาขาแพร่หลายในญี่ปุ่นและเอเซีย ในนามของ “กลุ่มเยาฮัน”) และอีกส่วนหนึ่ง (ซึ่งยึดถือเป็นหลักในการลำดับเค้าโครงเรื่อง) มาจากการรวบรวมจดหมายนิรนามของผู้หญิงจำนวนมากในยุคเมอิจิ ซึ่งเขียนบอกเล่าถึงเรื่องราวในอดีตอันทุกข์รันทดที่ยากจะบรรยาย ก่อนจบชีวิตตนเอง
เรื่อง Oshin ครอบคลุมกินเวลายาวนาน ตั้งแต่ปี 1906 ซึ่งโอชินมีอายุหกขวบ และจบลงในปี 1983
ฮาชิดะ ซุงาโกะ เริ่มต้นเรื่องที่เหตุการณ์ในปัจจุบัน บรรดาสมาชิกตระกูลทาโนคุระกำลังจะเปิดห้างสรรพสินค้าสาขาที่ 17 แต่แล้วโอชินซึ่งเป็นผู้อาวุโสสูงสุดของครอบครัว กลับหลบหนีหายไปโดยไม่บอกกล่าว ถัดจากนั้นหลายชายบุญธรรมก็อาศัยไหวพริบ ออกติดตามจนพบตัวคุณย่า ทั้งสองจึงเดินทางตระเวนไปตามเมืองต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องผูกพันกับชีวิตของหญิงชรา พร้อม ๆ กับคำบอกเล่าถึงทุกข์สุขต่าง ๆ ย้อนหลัง
โอชินเกิดในครอบครัวชาวนาเช่าที่ดินทำกิน มีรายได้แทบเข้าขั้นติดลบ มิหนำซ้ำยังมีหลายปากท้องต้องเลี้ยงดู-กระทั่งต้องหุงข้าวปนหัวไช้เท้าทุก มื้อ-ก็ยังไม่เพียงพอที่จะทำให้ทุกคนได้อิ่มโดยทั่วถึง
เมื่ออายุ 7 ขวบ เธอต้องพลัดพรากจากบ้าน ถูกขายให้ไปทำงานเลี้ยงเด็กในร้านค้าไม้เป็นเวลาหนึ่งปี (แลกกับข้าวสารหนึ่งกระสอบ) ผ่านการตรากตรำกรำงานหนักเกือบครบตามสัญญา ก็มีเหตุให้หนูน้อยตัดสินใจหลบหนีกลับบ้านตามลำพัง เนื่องจากโกรธและน้อยใจที่โดนกล่าวหาว่าขโมยเงิน
โอชินเกือบพบจุดจบเมื่อล้มฟุบหมดสติท่ามกลางหิมะหนาวเหน็บ แต่ก็มีชายหนุ่มหนีทหารชื่อชุนซากุที่หลบซ่อนตัวอยู่ในละแวกนั้นช่วยชีวิต ไว้
เมื่อกลับคืนสู่บ้านเกิดและครอบครัวได้ไม่นาน ความอดอยากก็ส่งผลให้โอชินต้องประสบชะตากรรมเดิม ๆ ต้องออกไปทำงานกับครอบครัวร้านค้าข้าวสารในตำบลซาคาตะ แต่ครั้งนี้สถานการณ์พลิกผันเป็นบวก เมื่อคุณนายคุนิผู้มีเมตตาและเที่ยงธรรม คอยให้ความอุปการะช่วยเหลือ จนกระทั่งผ่านพ้นวัยเด็กอย่างมีความสุข
ย่างเข้าสู่วัยรุ่น โอชินอำลาจากครอบครัวนายจ้าง เพราะเกิดปัญหาหัวใจ (โอชินกับคาโยะหลานสาวของคุณนาย ซึ่งสนิทสนมกันเหมือนพี่น้อง ต่างตกหลุมรักชายหนุ่มชื่อโคตะ) เธอหวนกลับคืนสู่บ้านเกิด จากนั้นก็มุ่งหน้าไปเผชิญโชคผจญภัยในโตเกียว ได้พบรักแต่งงานกับลูกเศรษฐีชื่อริวโซ ท่ามกลางการคัดค้านไม่เห็นด้วยจากแม่ของฝ่ายชาย
หลังแต่งงาน โอชินต้องเอาชนะใจสมาชิกครอบครัวของสามี พร้อม ๆ กับกอบกู้ธุรกิจร้านขายผ้า ซึ่งกำลังประสบภาวะย่ำแย่ จนกระทั่งเหตุวิกฤติทุกอย่างเริ่มคลี่คลาย เธอคลอดลูกเป็นชาย กิจการที่ปรับเปลี่ยนมาเป็นตัดเย็บเสื้อผ้าเด็กกำลังก้าวหน้า ตระเตรียมเปิดโรงงานขนาดใหญ่ แต่แล้วทุกอย่างก็พังพินาศในชั่วพริบตา เมื่อเกิดแผ่นดินไหวครั้งรุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ของโตเกียว เมื่อเดือนกันยายน ปี 1923 (มีผู้เสียชีวิตราว ๆ สามแสนคน อีกประมาณสองล้านสูญเสียบ้านกลายเป็นผู้ไร้ที่อยู่อาศัย)
โอชินต้องโยกย้ายไปอยู่กับครอบครัวของสามี เผชิญความขัดแย้งระหว่างแม่ผัวกับลูกสะใภ้ และลงเอยด้วยการที่ลูกสาวเพิ่งคลอดเสียชีวิต
โอชินหนีไปตั้งต้นชีวิตใหม่เปิดร้านอาหาร จากนั้นก็โยกย้ายมาเป็นแม่ค้าขายปลาที่เมืองอิเสะ พลัดพรากกับสามีนานหลายปี กว่าจะมีโอกาสหวนคืนกลับมาเป็นครอบครัวพร้อมหน้าพร้อมตาดังเดิม
ทว่าผลพวงจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็ทำให้ลูกชายที่ถูกเกณฑ์เป็นทหารเสียชีวิต สามีฆ่าตัวตาย ธุรกิจที่กำลังเติบโตพังทลายไปต่อหน้าต่อตา
โอชินเริ่มต้นใหม่อีกครั้ง ต่อสู้อย่างเด็ดเดี่ยวยาวนาน จากช่วงวัยกลางคนย่างสู่วัยชรา ผลักดันจนร้านขายปลาเล็ก ๆ กลายเป็นซูเปอร์มาเก็ตขนาดใหญ่ และค่อย ๆ ขยับขยายสาขาออกไปอีกหลายแห่ง พร้อม กับความเติบโตของบรรดาสมาชิกครอบครัว
เรื่องจบลงเมื่อตระกูลทาโนคุระในปี 1983 กำลังเผชิญกับหายนะครั้งสำคัญที่อาจส่งผลถึงขั้นล้มละลาย แต่ก็ทำให้ทุกคนได้รับบทเรียนถึงคุณค่าของความเป็นครอบครัว การยืนหยัดเคียงข้างในยามทุกข์ และจิตใจมุ่งมั่นไม่ยอมแพ้
มีหลายเหตุผลที่ทำให้ Oshin เป็นละครโทรทัศน์ที่ “จับใจ” ผู้คน
อันดับแรกคือ ชั้นเชิงทางด้านการเขียนบท กำหนดวางบุคลิก ซึ่งทำให้ผู้ชมผูกพันเอาใจช่วยตัวละคร จากนั้นก็สร้างเหตุการณ์ผันผวนยอกย้อน “ดีสลับร้าย” ต่างๆ อยู่เป็นระยะ ๆ จนทำให้ละครชุดนี้ ดูสนุกเข้มข้นชวนติดตาม และสามารถสะกดตรึงไว้ได้ตั้งแต่ต้นจนจบ
ถัดมาคือ ละครชุด Oshin นำพาคนดูเข้าสู่การผจญภัยที่ล้วนแล้วแต่เป็นปัญหาสาหัสในชีวิต และประสบความสำเร็จอย่างดีเยี่ยม ด้วยการปลุกปลอบสร้างกำลังใจ ทำให้ผู้ชมรู้สึกว่าเรื่องทุกข์อุปสรรคทั้งหลายของตนเป็นเพียงเหตุการณ์เล็ก น้อย เมื่อเทียบกับชะตาโดยรวมของตัวละคร
ฝีมือการเขียนบทของฮาชิดะ ซุงาโกะแยบยลตรงนี้เอง กล่าวคือ แท้จริงแล้วชีวิตของโอชินไม่ได้เลวร้ายย่ำแย่ไปเสียทั้งหมด มีด้านบวกด้านลบทุกข์สุขปะปนอยู่ใกล้เคียงกัน และแทรกสลับไปมาอยู่ตลอดเวลา เพียงแต่โดยกลวิธีการนำเสนอ มักเลือกเน้นรายละเอียดในช่วงยากลำบากของตัวละครอย่างถี่ถ้วน และบอกเล่าช่วงที่มีความสุขให้รวบรัดตัดข้ามผ่านไปโดยเร็ว
น้ำหนักอารมณ์ของเรื่องของ Oshin จึงโน้มเอียงมาทางโศกสะเทือนอารมณ์อย่างเด่นชัด (และใช้ช่วงที่ตัวละครมีความสุขเพื่อผ่อนหนักให้เป็นเบา)
ความน่าสนใจอีกประการได้แก่ การเล่าเรื่องที่กินเวลายาวนาน ส่งผลให้ Oshin สะท้อนรายละเอียดต่าง ๆ ที่มีคุณค่าเอาไว้มากมาย ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ สังคม การเมือง เศรษฐกิจ รายละเอียดเกี่ยวกับขนบธรรมเนียมประเพณ๊ ตลอดจนสภาพชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คน (Oshin แสดงให้เห็นจุดเปลี่ยนของญี่ปุ่น จากประเทศที่ยากไร้ขาดแคลน บทบาทของทหารที่ขึ้นมามีอำนาจครอบงำสังคม กระทั่งเป็นชนวนให้เข้าสู่สงครามกับรัสเซีย และจีน ปิดท้ายด้วยสงครามโลกครั้งที่ 2 กระทั่งกลายเป็นผู้แพ้ ถูกอเมริกายึดครอง และกลายเป็นจุดเริ่มต้นของการฟื้นฟูครั้งใหญ่ จนเติบโตก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ)
อย่างไรก็ตาม แง่มุมที่ลึกซึ้งกินใจมากสุดใน Oshin คือ แก่นเรื่องที่แสดงผ่านบุคลิกของโอชิน ซึ่งประกอบไปด้วยจิตใจมุ่งมั่นไม่ยอมแพ้ ไม่เกรงกลัวความล้มเหลว (โอชินเชื่อว่า ไม่ว่าจะเสียหายพังพินาศเพียงไร ทุกสิ่งสามารถเริ่มต้นใหม่ได้เสมอ) การก้าวเติบโตไปข้างหน้า ๆ อย่างช้า ๆ แต่มั่นคง การแสวงหาความสุขจากความสงบ สมถะ และสันโดษในชีวิต
ที่สำคัญคือ ตลอดทั้งเรื่อง Oshin ได้สรุปตอกย้ำให้เห็นอยู่บ่อยครั้งว่า ความสุขในชีวิตเป็นสิ่งที่เราจะต้องเสาะหาให้พบ ในท่ามกลางความทุกข์ยาก อันเป็นเหตุการณ์ส่วนใหญ่แกนหลัก
มีฉากเรียกน้ำตาใน Oshin อยู่มากมาย แต่มันไม่ได้เกิดจากบริเวณเรื่องเศร้าสลดหดหู่หม่นหมอง ตรงกันข้าม เกือบทุกครั้งที่ผู้ชมเสียน้ำตา ส่วนใหญ่มักจะมาจากฉากหยิบยื่นแสดงน้ำใจทำความดีต่อกันระหว่างตัวละคร